วานิชพาทัวร์ สัปดาห์นี้ ขอพาไปตามรอยประวัติศาสตร์กัน ณ ที่แห่งนี้เลยค่ะ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวิทยาลัยเรา
วัดโบสถ์บน บางคูเวียง
วัดโบสถ์บน บางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี เป็นสถานที่สำคัญ 1 ใน 6 แห่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ วัดแห่งนี้เป็นสถานที่บรรลุธรรมของท่าน วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก บริเวณหมู่ 4 ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งยังอนุรักษ์โบราณสถานไว้ในสภาพสมบูรณ์ คงไว้ซึ่งภูมิปัญญาและศิลปะอันงดงามล้ำค่าแห่งบรรพบุรุษไทย ประวัติความเป็นมาและผู้สร้างวัดโบสถ์บน บางคูเวียง ไม่แน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าที่ปรากฏในหนังสือวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2526) ที่ว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เคยเสด็จมาประทับอยู่บริเวณที่ตั้งวัดนี้ ภายหลังทรงยกที่ดินให้สร้างเป็นวัด โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างถาวรวัตถุที่เป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา มีเอกลักษณ์ คือ พระอุโบสถเป็นรูปทรงเรือสำเภา อันหมายถึงการเดินทางสัญจรและการค้าในอดีต สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2300 ในสมัยอยุธยา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ.2310 พื้นที่โดยรอบวัดเป็นวัดเป็นสวนและคลองซอย
ถึงแม้วัดโบสถ์บน บางคูเวียง จะอยู่ในสวน แต่ก็มีความอัศจรรย์ของสถานที่แห่งนี้หลายอย่าง มีพระมหาเถระที่มีความสำคัญและทรงวิทยาคุณมาพักพาอาศัยบำเพ็ญสมณธรรมหลายยุคหลายสมัย เช่น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ได้เคยมาพำนักอยู่ที่วัดนี้ ดังมีหลักฐาน คือ มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ขนาดความกว้าง 1 ศอกเศษ ยาว 3 ศอกเศษ ซึ่งเป็นปริศนาธรรมอย่างหนึ่ง ปัจจุบันวัดบูรณะให้อยู่ในสภาพคงทนถาวร ถัดมา คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เมื่อครั้งเป็นพระภิกษุหนุ่ม ได้เดินทางจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) มาจำพรรษาที่วัดนี้ และบำเพ็ญสมณธรรมอย่างอุกฤษฏ์เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ได้บรรลุธรรม ณ พระอุโบสถหลังเดิมของวัด เมื่อวันเพ็ญเดือน 10 ตรงกับวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2460 และต่อมามีการปฏิบัติธรรมตามแนวของท่าน สืบกันมาเป็นลำดับ พระอุโบสถหลังเดิมของวัดโบสถ์บน บางคูเวียง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในความดูแลของกรมศิลปากร และมีบันทึกของกรมศิลปากรว่าเคยบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2475 เนื่องจากหน้ามุขของพระอุโบสถพังทลายจึงเปลี่ยนหน้ามุขและกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ และประมาณปี พ.ศ.2500 ซ่อมผนังที่เสื่อมสภาพอีกครั้งหนึ่ง ความพิเศษของพระอุโบสถหลังนี้ คือ มีพระประธาน พระพุทธรูปบริวาร 28 องค์ และพระอัครสาวก 2 องค์ รอบโบสถ์มีใบเสมาโบราณ นอกจากนี้ด้านหน้ายังมีเจดีย์โบราณ 4 องค์ เมื่อมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เมื่อพ.ศ.2538 จึงใช้พระอุโบสถหลังเดิมเป็นวิหารปฏิบัติธรรม และกลายเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญของคณะศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้จาริกแสวงบุญ ปฏิบัติธรรม และบำเพ็ญกุศลตลอดปี
วันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นอกจากจะเป็นพระราชพิธีโบราณเก่าแก่ที่จะทำเพื่อเป็นการเสริมสร้างความเป็น สิริมงคลแก่การเกษตรกรรมแล้ว วันดังกล่าวยังถือเป็น "วันเกษตรกร" อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรได้ระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปจะได้ระลึกถึงความสำคัญของข้าวและธัญญพืชที่มีคุณเอนกอนันต์ในการหล่อเลี้ยงชีวิตให้เติบโตสมบูรณ์ทั้งกายใจ และเหนือสิ่งอื่นใดเพื่อพึงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชกรณียกิจอันเป็นแบบอย่างทางด้านเกษตรกรรมแก่ราษฎรชักนำให้มีใจมั่นในการประกอบอาชีพและเป็นเหตุของความตั้งมั่นความเจริญ ไพบูลย์ของประเทศมาโดยตลอด
วันพืชมงคล หมายถึง วันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่ามาแต่โบราณที่เสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งพระราชพิธีนี้จะกระทำที่ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย 2 พระราชพิธีคือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัย และ ให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
ต่อมา สมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์ และมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง เว้นแต่เมื่อมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร สถานที่ประกอบพิธีในตอนแรก ๆ จึงไม่ตายตัว แล้วแต่จะทรงกำหนดให้ ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น "พระราชพิธีพืชมงคล" จึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ"
ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่าง ตามที่ทรงจำแนกไว้ 3 อย่าง 2 อย่างแรก ที่ว่า "อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง" นั้น ทรงหมายถึง "พิธีพืชมงคล" อันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า "บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง" นั้น ทรงหมายถึงพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์
ดังนั้น จึงพอจะสรุปความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นี้ได้ว่าพิธีแรกนามุ่งหมายที่จะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา อันเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่มีมาแต่ช้านานสืบมาจนปัจจุบันยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้น เป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย
ส่วนวันประกอบพิธีนั้น ต้องเป็นวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้น แรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝน เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนา เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวง ที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้กำหนดไว้ว่าวันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแต่เดิมมาทำที่ทุ่งนาพญาไท เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ทั้งนี้ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ 1 วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ
พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งข้าวที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่าง ๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนา บรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดฯ ให้ปลูกในสวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล
โดยพันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซอง แล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้
ทั้งนี้ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบันนี้ได้ดำเนินตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เว้นแต่บางอย่างได้มีการดัดแปลงให้เหมาะแก่กาลสมัย อาทิ พิธีของพราหมณ์ก็มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระยาแรกนาก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับ 3 - 4 คือขั้นโทขึ้นไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีทุกปี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูต และประชาชนได้มาชมการแรกนาเป็นจำนวนมาก
สำหรับการประกอบพิธีนั้นก็จะถูกกำหนดขึ้นโดยโหรหลวง ในระหว่างพิธีอันสวยงามนี้ ก็จะมีการทำนาย ปริมาณน้ำฝน ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง และแล้วพระยาแรกนาก็จะทำการเลือกผ้า 3 ผืน ที่มีความยาวต่างขนาดกัน ตามชอบใจ ผ้าทั้ง 3 ผืน นี้จะดูคล้ายกัน ถ้าพระยาแรกนาเลือกผืนที่ยาวที่สุดก็ทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมีน้อย ถ้าเลือกผืนที่สั้นที่สุดทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมาก และถ้าเลือกผืนที่มีความยาวปานกลาง ทายว่ามีปริมาณน้ำฝนพอประมาณ
หลังจากสวมเสื้อผ้าเรียกว่า "ผ้านุ่ง" เรียบร้อยแล้ว พระยาแรกนาก็จะไถลงไปบนพื้นที่ท้องสนามหลวงด้วยพระนังคัลสีแดงและสีทอง ซึ่งลากโดยพระโคผู้สีขาว ตามขบวนด้วยเทพีทั้ง 4 ผู้ซึ่งหาบกระเช้าทองและกระเช้าเงินที่บรรจุด้วยเมล็ดข้าวเปลือก นอกจากนี้ก็มีคณะพราหมณ์เดินคู่ไปกับขบวนพร้อมทั้งสวดและเป่าสังข์ไปพร้อมกัน
เมื่อเสร็จจากการไถแล้วพระโคก็จะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่ม 7 ชนิด คือ เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้าเมล็ดงา น้ำ และเหล้า ไม่ว่าพระโคจะเลือกกินหรือดื่มสิ่งใด ก็ทายว่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่พระโคเลือกนั้น
เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าวที่หว่านโดยพระยาแรกนา เพราะว่าเมล็ดข้าวนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ชาวนาก็จะใช้เมล็ดข้าวนี้ผสมกับเมล็ดข้าวของตน เพื่อให้พืชผลในปีที่จะมาถึงนี้อุดมสมบูรณ์
สำหรับพระโคที่จะเข้าพระราชพิธีแรกนาขวัญ จะถูกเลี้ยงดูอย่างดีในทุ่งหญ้าที่จังหวัดราชบุรี พระโคที่ใช้ในพระราชพิธี จะต้องมีลักษณะที่ดีขาดเกินไม่ได้คือ หูดี ตาดี แข็งแรง เขาทั้งสองตั้งตรงสวยงาม พระโคแต่ละคู่ต้องสีเหมือนกัน ซึ่งจะมีการคัดเลือกพระโคเพียงสองสีเท่านั้น คือ สีขาวสำลีและสีน้ำตาลแดง และเจาะจงแต่เพศผู้เท่านั้นและต้องผ่านการ "ตอน" เสียก่อนด้วย
อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน
1.ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
2.จัดนิทรรศการ แสดงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันพืชมงคลรวมทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ที่มาข้อมูลจาก : kapook.com
ติดตาม Aj.Nop Tech
Facebook Page: Aj Nop Tech
Youtube Channel: Aj. Nop Channal
วานิชพาทัวร์ สัปดาห์นี้ ขอเสนอ วัดคงคา
ซึ่งตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจาก วท. เราค่ะ
เป็นทั้งที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นทั้งที่ที่เหล่านักเรียน นักศึกษา รวมถึงครู อาจารย์ ก็แวะไปเยี่ยมเยียนวัดนี้บ่อย ๆ ค่ะ
วัดคงคา ถือเป็นวัดที่มีความเก่าแก่มากที่สุดวัดหนึ่งในย่านชานเมืองนนทบุรีกับชานเมืองกรุงเทพ วัดนี้สร้างในสมัยกรุงสุโขทัย หรือประมาณ 700 ปีมาแล้ว สว อิเฎลจำได้ว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ 60 กว่ารูปและวัดดูยากจนมากแม้ว่าจะอยู่ติดถนน อิเฎลเคยวิ่งตามพระเข้าไปใส่บาตร ตอนนั้นน้ำท่วมเข้ามาใต้กุฏิ ปัจจุบัน (2010) วัดมีฐานะดีขึ้นและมีพระสงฆ์ประจำอยู่ 33 รูป ทั้งนี้เนื่องจากวัดคงคาได้สร้างจุดท่องเทียวเชิงธรรมะคือรูปหล่อ หลวงปู่ทวด สูง 5 เมตร สร้างเสร็จเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ปัจจุบันเปิดให้ถวายทองแท่งเพื่อหล่อต่อ รูปหล่อหลวงปู่ทวดนี้อยู่บนชั้นสองของอาคาร ดังนั้นประชาชนจะสามารถมองเห็นท่านได้จากถนนใหญ่ ด้านล่างของอาคารยังมีนางตะเคียนชื่อ “เจ้าแม่ศรีเกศ” ให้ชาวบ้านได้กราบไหว้บูชาอีกด้วย โดยไม้ตะเคียนนี้ขุดพบเมื่อสามสิบปีที่แล้ว และชาวบ้านได้นำมาถวายให้วัดในเดือนมกราคม 2553