วานิชพาทัวร์ สัปดาห์นี้ ขอพาไปตามรอยประวัติศาสตร์กัน ณ ที่แห่งนี้เลยค่ะ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวิทยาลัยเรา
วัดโบสถ์บน บางคูเวียง
วัดโบสถ์บน บางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี เป็นสถานที่สำคัญ 1 ใน 6 แห่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ วัดแห่งนี้เป็นสถานที่บรรลุธรรมของท่าน วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก บริเวณหมู่ 4 ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งยังอนุรักษ์โบราณสถานไว้ในสภาพสมบูรณ์ คงไว้ซึ่งภูมิปัญญาและศิลปะอันงดงามล้ำค่าแห่งบรรพบุรุษไทย ประวัติความเป็นมาและผู้สร้างวัดโบสถ์บน บางคูเวียง ไม่แน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าที่ปรากฏในหนังสือวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2526) ที่ว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เคยเสด็จมาประทับอยู่บริเวณที่ตั้งวัดนี้ ภายหลังทรงยกที่ดินให้สร้างเป็นวัด โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างถาวรวัตถุที่เป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา มีเอกลักษณ์ คือ พระอุโบสถเป็นรูปทรงเรือสำเภา อันหมายถึงการเดินทางสัญจรและการค้าในอดีต สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2300 ในสมัยอยุธยา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ.2310 พื้นที่โดยรอบวัดเป็นวัดเป็นสวนและคลองซอย
ถึงแม้วัดโบสถ์บน บางคูเวียง จะอยู่ในสวน แต่ก็มีความอัศจรรย์ของสถานที่แห่งนี้หลายอย่าง มีพระมหาเถระที่มีความสำคัญและทรงวิทยาคุณมาพักพาอาศัยบำเพ็ญสมณธรรมหลายยุคหลายสมัย เช่น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ได้เคยมาพำนักอยู่ที่วัดนี้ ดังมีหลักฐาน คือ มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ขนาดความกว้าง 1 ศอกเศษ ยาว 3 ศอกเศษ ซึ่งเป็นปริศนาธรรมอย่างหนึ่ง ปัจจุบันวัดบูรณะให้อยู่ในสภาพคงทนถาวร ถัดมา คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เมื่อครั้งเป็นพระภิกษุหนุ่ม ได้เดินทางจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) มาจำพรรษาที่วัดนี้ และบำเพ็ญสมณธรรมอย่างอุกฤษฏ์เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ได้บรรลุธรรม ณ พระอุโบสถหลังเดิมของวัด เมื่อวันเพ็ญเดือน 10 ตรงกับวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2460 และต่อมามีการปฏิบัติธรรมตามแนวของท่าน สืบกันมาเป็นลำดับ พระอุโบสถหลังเดิมของวัดโบสถ์บน บางคูเวียง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในความดูแลของกรมศิลปากร และมีบันทึกของกรมศิลปากรว่าเคยบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2475 เนื่องจากหน้ามุขของพระอุโบสถพังทลายจึงเปลี่ยนหน้ามุขและกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ และประมาณปี พ.ศ.2500 ซ่อมผนังที่เสื่อมสภาพอีกครั้งหนึ่ง ความพิเศษของพระอุโบสถหลังนี้ คือ มีพระประธาน พระพุทธรูปบริวาร 28 องค์ และพระอัครสาวก 2 องค์ รอบโบสถ์มีใบเสมาโบราณ นอกจากนี้ด้านหน้ายังมีเจดีย์โบราณ 4 องค์ เมื่อมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เมื่อพ.ศ.2538 จึงใช้พระอุโบสถหลังเดิมเป็นวิหารปฏิบัติธรรม และกลายเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญของคณะศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้จาริกแสวงบุญ ปฏิบัติธรรม และบำเพ็ญกุศลตลอดปี